วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ชาวบ้านคำเตยสุดทนโวย อบต.ยันจังหวัดเมินแก้ปัญหานายทุนรุกที่สาธารณะ

ชาวบ้านคำเตยสุดทน โวย อบต.ยันจังหวัด ปล่อยนายทุนรุกที่ป่าสาธารณะของชุมชน ร้องเรียนให้ช่วยแก้ไขปัญหาหลายครั้ง กลับเงียบเฉย ไร้หน่วยงานเหลียวแล

วันที่ 1 มิ.ย.54 นายศรีนคร สมจี อายุ 65 ปี ผู้ใหญ่บ้านทุ่งมน หมู่ 8 ต.คำเตย อ.เมือง จ.นครพนม พร้อมด้วย นายอุดม ศิริพุทธ อายุ 47 ปี นายปัญญา สมจี อายุ 45 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และแกนนำชาวบ้าน หอบเอกศาลคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 699/2548 คดีหมายเลขแดงที่ 1802/2551 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2551 เข้าร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนวิงวอนไปยังผู้มีอำนาจ ขององค์การบริหารส่วนตำบลคำเตย รวมถึงอำเภอเมือง และจังหวัดนครพนม

กรณีพื้นที่ป่าชุมชนในหมู่บ้าน พื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ ถูกนายทุนบุกรุกเข้าไปทำการปลูกยางพารา หลังเคยเกิดปัญหาเรื่องที่ดินทับซ้อน จนได้มีการชุมนุมเรียกร้องให้ทางจังหวัดมาดำเนินการแก้ไข หลายครั้ง จนกระทั่งชาวบ้านถูกนายทุนแจ้งดำเนินคดีบุกรุก แต่มีการต่อสู้ฟ้องร้องกันมาตลอดตั้งแต่ปี 2540

ในที่สุดชาวบ้านที่ถือจับจองที่ดินรวมประมาณ 100 ราย ได้มีมติยกที่ดินให้เป็นป่าชุมชน เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน

จนในที่สุดเมื่อปี 2551 ศาลปกครองได้มีการตัดสินถึงที่สุด ให้พื้นที่ดังกล่าว เป็นที่สาธารณประโยชน์ป่าชุมชน เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่ปัจจุบันยังพบว่ามีนายทุนเข้าไปดำเนินการบุกรุกปลูกยางพารา เคยร้องเรียนผ่านไปยัง องค์การบริหารส่วนตำบลคำเตย ทั้งอำเภอ และจังหวัดมาหลายปีกลับไม่มีใครสนใจ จึงต้องวิงวอนผ่านสื่อไปยังหน่วยงานเกี่ยวข้อง มาดำเนินการแก้ไข เชื่อว่ามีผู้อิทธิพลอยู่เบื้องหลัง

นายศรีนคร สมจี อายุ 65 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านทุ่งมน หมู่ 8 ต.คำเตย อ.เมือง จ.นครพนม กล่าวว่า สำหรับที่ดินดังกล่าวเดิมเป็นที่จับจองของชาวบ้านมานานกว่า 20-30 ปี ประมาณกว่า 100 ราย รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่

จากนั้นได้มีนายทุนเข้ามาติดต่อซื้อเป็นเจ้าของ จนเกิดปัญหาการครอบครองทับซ้อน มาตั้งแต่ปี 2540 ทำให้นายทุนแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านหลายราย แต่ได้รวมตัวกันไปเรียกร้องให้จังหวัดมาดำเนินการแก้ไขปัญหา ด้วยการลงมติให้ยกเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันในชุมชน

ต่อมากลุ่มนายทุนได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อเพิกถอนคำสั่ง ในสุดเมื่อประมาณปี 2551 ศาลปกครองมีคำพิพากษาเป็นที่สิ้นสุดให้ ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันในชุมชน แต่ปัจจุบันกลับยังมีนายทุนเข้าไปปลูกยางพารา จนต้นสูงกว่า 2 เมตร เคยเรียกร้องไปยังหน่วยงานภาครัฐทั้ง อบต.อำเภอ จังหวัด แต่ไม่มีใครสนใจ เป็นเวลากว่า 3 ปี แล้ว

ทั้งที่ตนและชาวบ้านต่อสู้มากว่า 10 ปี จึงต้องวิงวอนผ่านสื่อให้ผู้มีอำนาจมาแก้ไขด่วน เพราะเชื่อว่ามีนายทุนผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง ทำให้ข้าราชการไม่กล้าเข้าไปตรวจสอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพบพื้นที่ดังกล่าว มีการบุกรุกเข้าไปดำเนินการปลูกสวนยางพารา จนมีต้นสูงกว่า 2 เมตร พร้อมประสานขอสัมภาษณ์ข้อเท็จจริงกับ อำเภอ และจังหวัด รวมถึงหน่วยงานเกี่ยวข้องแต่กลับไม่มีใครยอมให้ข้อมูล อ้างไม่มีอำนาจ

ข้อมูลจาก...ผู้จัดการ ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น