วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เปิดแล้ว สกพ.เขต 4 จ.ขอนแก่น คุ้มครองผู้ใช้ไฟ-ก๊าซอีสานบน

เปิดแล้ว สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเขต 4 ขอนแก่น วางบทบาท ดูแลผู้ใช้พลังงานทั้งไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ ทั้งรับร้องเรียนแก้ปัญหาให้ผู้ใช้พลังงานใน 7 จังหวัดอีสานตอนบน ด้านปัญหาผู้ใช้รถก๊าซเอ็นจีวีไม่มีเติม เหตุแหล่งก๊าซเอ็นจีวีมีไม่เพียงพอ ต้องใช้ผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก แนะรอโครงการว่างท่อก๊าซแก่งคอย-นครราชสีมา ในอนาคตแก้ปัญหา

วันที่ 30 พ.ค.54 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) จัดกิจกรรมพิธีเปิดสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขต 4 หรือ สกพ.เขต 4 (ขอนแก่น) โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และ นายธนวัฒน์ พลอยโสภณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ร่วมเป็นประธานเปิดสำนักงาน โดยมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ประชาชนผู้ใช้พลังงานร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ณ ห้องศรีจันทร์ 2 โรงแรมเจริญธานี อ.เมือง จ.ขอนแก่น

บทบาทของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเขต 4 ขอนแก่น จะทำหน้าทั้งกำกับ ดูแล และร่วมตรวจสอบ ให้การคุ้มครองประชาชนผู้ใช้พลังงานทั้งพลังงานไฟฟ้า รวมถึงก๊าซธรรมชาติ สามารถร้องเรียนปัญหาได้ สกพ.เขต 4 ขอนแก่น โดยมีพื้นที่กำกับดูแล 7 จังหวัด ประกอบด้วย ขอนแก่น เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม และหนองคาย

ศ.เกียรติคุณ ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า กิจการพลังงานถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ การจัดการด้านพลังงาน เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้โดยไม่ต้องกังวล ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เป็นหน่วยงานที่เกิดขึ้นตาม พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงานพ.ศ.2550 เพื่อกำกับกิจการพลังงาน และดูแลคุ้มครองผู้ใช้พลังงานในประเทศทุกคน

จุดมุ่งหมายของการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรม ทั้งต่อผู้ประกอบกิจการพลังงาน และประชาชนผู้ใช้พลังงาน และเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการประกอบกิจการพลังงานให้เกิดความมั่นคง ทั้งเป็นหลักประกันต่อคนไทยทั้งประเทศ ว่า จะมีพลังงานใช้อย่างทั่วถึง เพียงพอในราคาที่ยุติธรรม

รวมถึงกำกับกิจการพลังงานให้มีความปลอดภัยทั้งต่อบุคคลและสิ่งแวดล้อมด้วย ขณะเดียวกันพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังให้การดูแลคุ้มครองประชาชนผู้ใช้พลังงานที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการพลังงาน และการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการให้บริการด้วย

ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวต่อว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ มุ่งเน้นตอบสนองประชาชนผู้ใช้พลังงาน จึงได้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขตในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งสิ้น 13 เขต เพื่อดูแลคุ้มครองผู้ใช้พลังงานและให้บริการด้านกิจการพลังงานอย่างทั่วถึงทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

ทั้งนี้ เพื่อให้ภาคประชาชนผู้ใช้พลังงานได้มีส่วนร่วมในกิจการพลังงาน จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต (คพข.) เพื่อปฏิบัติภารกิจในด้านการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้พลังงานที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการให้บริการ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขตในทุกเขตด้วย

ชี้แก้ปัญหา NGV ไม่พอเติมรถยนต์ ต้องรอโครงการวางท่อก๊าซถึงโคราช

สำหรับปัญหาผู้ใช้รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หรือเอ็นจีวี ที่ประสบปัญหาปริมาณก๊าซเอ็นจีวี ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ผู้ใช้รถยนต์ทั้งรถบรรทุก รถโดยสาร และรถยนต์ส่วนบุคคล ต้องเข้าคิวยาวเหยียดรอเติมหน้าสถานีบริการนั้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีสถานีบริการก๊าซเอ็นจีวี เพียงไม่กี่แห่ง

กรณีดังกล่าว ศ.เกียรติคุณ ดร.ดิเรก กล่าวว่า การใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ในภาคอีสาน แม้ว่าจะมีแหล่งพลังงานแห่งใหม่ที่แหล่งก๊าซภูฮ่อม อ.หนองแสง จ.อุดรธานี แต่ปริมาณค่อนข้างน้อย จุดหลักส่งเข้าสู่การผลิตไฟฟ้า โดยก๊าซเอ็นจีวีส่วนใหญ่ในภาคอีสาน ยังคงพึ่งพาก๊าซธรรมชาติหลักจากอ่าวไทย ที่ส่งผ่านระบบท่อมาขึ้นที่อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ขนส่งด้วยรถเทรลเลอร์ไปยังสถานีบริการต่างๆ

ทั้งนี้ ในอนาคต มีแผนพัฒนาการขนส่งก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ ผ่านระบบท่อมาถึงจังหวัดนครราชสีมา ทำให้การขนส่งก๊าซด้วยรถเทรลเลอร์ไปยังจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสาน ใช้เวลาสั้นลง แก้ปัญหาก๊าซเอ็นจีวีขาดแคลนได้ระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามผู้ใช้รถยนต์ที่ใช้พลังงานเอ็นจีวี ในพื้นที่จ.ขอนแก่นและจ.ใกล้เคียง ได้สะท้อนปัญหาว่า สถานีบริการก๊าซเอ็นจีวี มีจำนวนไม่เพียงพอ ไม่สอดคล้องกับปริมาณรถบรรทุกและรถยนต์ส่วนตัวเพิ่มขึ้นเร็วมาก แต่ ปตท.กับไม่ขยายบริการก๊าซเอ็นจีวี ไปยังสถานีบริการอื่น โดยเฉพาะรถยนต์บรรทุกที่วิ่งระหว่างภาค หากไม่มีเอ็นจีวี จะต้องจอดรอเติม บางคันใช้เวลา 1-2 วัน

แม้ว่า ก๊าซเอ็นจีวี จะเป็นพลังงานทางเลือกยุคน้ำมันแพง ทั้งเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ ปตท.และรัฐบาลมีนโยบายให้การสนับสนุนเงินทุนเปลี่ยนอุปกรณ์และถังก๊าซ แต่ ณ ปัจจุบัน กลับไม่เพิ่มสถานีบริการ ซึ่งผู้ใช้รถเอ็นจีวี ได้รับความเดือดร้อนมาก ต้องเข้าคิวรอเติมเอ็นจีวี ต่อคันไม่ต่ำกว่า 40 นาที หรือบางครั้งหากคิวยาวอาจใช้เวลามากกว่า 1 ชั่วโมง

จากการสำรวจสถานีบริการก๊าซเอ็นจีวีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสถานีบริการเอ็นจีวีทั้งสิ้น 27 สถานี ประกอบด้วย จ.ขอนแก่น 8 สถานี เลย 1 สถานี อุดรธานี 2 สถานี มหาสารคาม 1 สถานี ร้อยเอ็ด 2 สถานี ส่วนเขตอีสานใต้ จ.นครราชสีมา 7 สถานี ชัยภูมิ 2 สถานี บุรีรัมย์ 1 สถานี สุรินทร์ 1 สถานี และอุบลราชธานี 2 สถานี จังหวัดอื่นนอกจากนี้ไม่มีสถานีบริการก๊าซเอ็นจีวีให้เติม

ข้อมูลจาก...ผู้จัดการ ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น