วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

“นายจ้างโคราช” เมินนำต่างด้าวขึ้นทะเบียนพิสูจน์สัญชาติกว่าครึ่งหมื่น


นครราชสีมา - นายจ้างโคราชเมินนำแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนพิสูจน์สัญชาติกว่าครึ่งหมื่น หลังรัฐขยายเวลาเพิ่มอีก 120 วัน ด้านแรงงานจังหวัดฯ รุกทำความเข้าใจนายจ้าง ขู่หากไม่นำแรงงานต่างด้าวพม่า ลาว และเขมร มาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องมีความผิดตาม กม. และแรงงานจะถูกผลักดันกลับประเทศต้นทาง
      
       
วันที่ 7 ก.พ.56  น.ส.อัญชลี สินธุพันธ์ จัดหางานจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ผ่อนผันแรงงานต่างด้าวสัญญาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ลักลอบเข้ามาทำงานอยู่กับนายจ้างในประเทศไทย รวมถึงบุตรแรงงานต่างด้าวที่อายุไม่เกิน 15 ปี อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษ เป็นเวลา 120 วัน จากเดิมที่ครบกำหนดเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 55 เพื่อดำเนินการให้ได้รับหนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) หรือเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity) จากประเทศต้นทาง และได้รับอนุญาตให้เป็นผู้เดินทางเข้าประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมกับได้รับอนุญาตทำงานกับนายจ้างเดิมต่อไป โดยมีระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 55 สิ้นสุดในวันที่ 13 เม.ย. 56 หากนายจ้างไม่ดำเนินการจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนแรงงานต่างด้าวจะถูกผลักดันกลับประเทศต้นทาง
      
       สำหรับ จ.นครราชสีมามีแรงงานต่างด้าวทั้ง 3 สัญชาติขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่ปี 2554 รวมทั้งสิ้น 7,700 คน ขณะนี้เข้ามาพิสูจน์สัญชาติเพียง 2,200 คนเท่านั้น คงเหลือแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติอีก 5,500 คน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวไม่รวมแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองและยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้
      
       ทั้งนี้ แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนพิสูจน์สัญชาติแล้วจะได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับแรงงานทั่วไป เช่น สิทธิในการรักษาพยาบาล ได้ค่าจ้างเงินเดือนตามที่กฎหมายกำหนด การประกันสุขภาพตามกฎหมาย การเดินทางสะดวก ไม่ต้องหลบซ่อนเจ้าหน้าที่
      
       “วันนี้ทางสำนักงานฯ ได้เรียกประชุมผู้ประกอบการในจังหวัดกว่า 200 ราย เพื่อทำความเข้าใจและเร่งนำแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในความดูแลมาขึ้นทะเบียนและพิสูจน์สัญชาติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ตามระยะเวลาที่ภาครัฐผ่อนผันให้ และหากไม่ดำเนินการถือว่าผู้ประกอบการมีความผิดตามกฎหมาย และแรงงานต่างด้าวจะต้องถูกผลักดันกลับประเทศต่อไปน.ส.อัญชลีกล่าว
      
       น.ส.อัญชลีกล่าวอีกว่า ตัวเลขผู้ว่างงานใน จ.นครราชสีมาล่าสุดเป็นปกติยังไม่เห็นผลกระทบจากการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน จ.นครราชสีมายังขาดแคลนแรงงานอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานในภาคอุตสาหกรรมระดับล่าง วุฒิการศึกษา ปวช., ปวส. อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีผู้ถูกเลิกจ้างมาขึ้นทะเบียนประกันการว่างงานเพื่อขอสิทธิประโยชน์ด้านประกันสังคมเฉลี่ยประมาณเดือนละ 1,000 ราย
ข้อมูลจาก.. ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น